ทำอย่างไรให้พี่น้องรักกัน

11
32752

ทำอย่างไรให้พี่น้องรักกัน ??

มีคนถามนิหน่ามาเยอะมากจริงๆค่ะ ทุกครั้งที่นิหน่าโพสรูปริต้ากับแพท เอาจริงๆเค้าก็มีแย่งของ มีงอนกันตามปกตินะคะ แต่แพทจะไม่ลงไม้ลงมือกับน้อง อย่างมากก็ดึงของเล่นจากมือกัน ถ้าจะถามว่า ทำยังไงให้พี่น้องรักกัน ถ้าคุณแม่กำลังท้องคนที่สอง อาจต้องเริ่มตั้งแต่อยู่ในท้องเลยค่ะ

อย่ายัดเยียดความรับผิดชอบให้ลูกทันที

คำแนะนำที่นิหน่าได้มา ตั้งแต่ริต้ายังอยู่ในท้อง ก็คือ บอกลูกคนโต ว่าน้องจะมาเป็น “เพื่อน” เค้าค่ะ อย่าใช้คำว่า หนูกำลังจะเป็นพี่ หนูต้องดูแลน้องนะคะลูก คำถามในใจเด็กอาจจะคิดว่า แกเป็นใคร ทำไมชั้นต้องดูแล 5555 เพราะเด็กวัย2-3ขวบ โลกของเค้ามีตัวเค้าเป็นจุดศูนย์กลาง เค้ายังไม่เข้าใจว่าหน้าที่ที่ต้องดูแลน้องคืออะไร และถ้าน้องเกิดมา คุณแม่โยนภาระหน้าที่ ความเสียสละ ว่าพี่คนโตต้องเสียสละให้น้อง ความรู้สึกไม่โอเค ไม่แฮปปี้ ก็จะยิ่งเกิดในใจเค้ามากขึ้นอีก ดังนั้น ก่อนจะบอก จะสอนให้เค้าดูแลน้อง เป็นพี่ใหญ่ เราต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพี่กับน้องก่อนนะคะ




สิ่งที่นิหน่าทำ ก็คือ คอยเปิดรูป เปิดวิดีโอเด็กในท้องให้แพทดู และบอกว่า อีกหน่อยแพทจะไม่เหงาละนะ มีน้องออกมาเป็นเพื่อน แต่น้องยังไม่เก่งเหมือนแพทนะ ยังกินอะไรก็ไม่ได้ พูดก็ไม่ได้ เดินก็ยังไม่ได้ แพทต้องช่วยแม่สอนน้องนะ

Keyword คือ “หนูช่วยแม่….”

เพราะแม่คือโลกทั้งใบของเค้า อะไรก็ตามที่ทำแล้วแม่ชื่นใจ ภูมิใจ คือสิ่งที่เค้าเต็มใจจะทำ

น้องคือสมบัติของเค้า

เวลาเรามีอะไรที่เราเชื่อว่า คือของของเรา เราจะห่วงและหวงไม่อยากให้ใครมาเอาไป และอยากจะรักษาสิ่งนั้นไว้ใช่ไหมคะ ความรู้สึกที่พี่มองว่าน้องตัวเล็กๆคือสมบัติของเค้า สำคัญมากนะคะ

สิ่งสำคัญควรเริ่มตั้งแต่วันที่คุณแม่คลอดน้องออกมา นิหน่าแปะบอกทุกคนว่า ให้ทักแพทริกก่อน ถ้าแพทอยู่ และนิหน่าเตรียมให้แพท มีของขวัญกล่องนึงให้น้อง และเตรียมของขวัญจากน้องให้แพท ซึ่งทุกวันนี้แพทยังจำได้ว่าน้องที่เกิดมาใหม่ให้ของขวัญวันแรกเจอกับเค้า และเค้าให้ของขวัญให้น้อง เป็นตุ๊กตาหมี มีเพลงกล่อมนอน


ทุกครั้งเวลามีใครมาบ้าน มาเยี่ยมน้อง นิหน่าจะหันไปบอกแพทว่า ขอคุณลุงคุณป้า เค้ามาดูน้องของแพทริกหน่อยนะครับ ทำบ่อยๆ แพทก็จะซึมซับว่า น้อง คือสมบัติของเค้า คือสมาชิกใหม่ที่เค้าหวงแหน (แรกๆหวงมาก ไม่ยอมให้ใครแปลกหน้าเข้าใกล้น้องเลยค่ะ 5555)

ความเท่าเทียม

สมัยก่อน เรามักได้ยินคำว่า ให้น้องไปเถอะ /หนูเป็นพี่ เสียสละให้น้องนะ / น้องยังเล็กอยู่เลย น้องไม่รู้เรื่อง คำพูดเหล่านี้สร้างความน้อยเนื้อต่ำใจจนฝังใจเด็กบางคน โตไปก็ยังฝังใจอยู่ คนเป็นพ่อเป็นแม่ควรมีความเท่าเทียมให้ลูกๆ แม้ว่าเค้าจะอายุเท่าไหร่ก็ตาม นิหน่ามีลูกผู้ชายคน ผู้หญิงคน อาจจะเล่นไม่ค่อยเหมือนกัน แต่ทุกครั้งที่มีการแย่งของเล่นกัน ถ้าริต้าเป็นฝ่ายไปแย่ง นิหน่าก็ต้องพูดกับริต้า (แม้จะรู้เรื่องบ้างไม่รู้บ้าง) ว่าทำแบบนี้ไม่ได้นะคะ หนูอยากเล่นหนูต้องรอ และแน่นอน ริต้าร้องตามระเบียบ ซึ่งนิหน่าก็จะหันไปถามว่า แพทเล่นเสร็จแล้วให้ริต้าเล่นด้วยได้ไหมลูก ส่วนใหญ่แพทก็จะตัดสินใจแบ่งเองนะคะ ยกเว้นเป็นของที่แพทประกอบเองขึ้นมา เค้าจะห่วงมาก เราก็จะเข้าใจ และหาอย่างอื่นให้ริต้าเล่น ความเท่าเทียมที่พ่อแม่แสดงออกมา ทำให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่รักเค้าเท่าๆกัน

จงชื่นชมกันและกัน

คำชมเป็นน้ำหล่อเลี้ยงจิตใจ ไม่แค่กับเด็กนะคะ ผู้ใหญ่เรายังรู้สึกดีเวลาเราทำดีแล้วมีคนชื่นชมเลย การชื่นชมในจุดเด่นของลูกแต่ละคน แต่ไม่เปรียบเทียบนะคะ เป็นแรงพลังให้น้องเห็นพี่เป็นฮีโร่ และพี่เห็นน้องเป็นคนเก่ง คำชื่นชมเช่น พี่แพททานข้าวหมดเลย หรือ พี่แพทแปรงฟันเสร็จแล้ว ไม่ร้องไห้เลย ปรบมือค่า ริต้าก็จะปรบมือให้พี่ พี่ก็ปลื้มสิ น้องปรบมือ แม่ชม ก็อยากจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้น้อง หรือบางอย่างที่ริต้าทำดี นิหน่าก็จะชื่นชมน้อง พี่แพทก็จะมาปรบมือให้ มีความสุขด้วยกันทุกฝ่าย

แต่คำชื่นชม ต้องไม่มีการเปรียบเทียบนะคะ

เช่น แพทกินข้าวหมดแล้ว ริต้าละยังไม่เห็นหมดเลย หรือ น้องเก่งมากเลย แพทไม่เก่งเลย อะไรแบบนี้ไม่ควรค่ะ

ทุกวันนี้ นิหน่าโชคดีค่ะ ที่ลูกๆรักกัน นิหน่าก็ไม่รู้หรอกนะว่า โตกว่านี้อีกหน่อยจะตีกันหรือเปล่า 5555 แต่ก็จะพยายามรักษาคอนเซปต์นี้เอาไว้ แต่นิหน่าเชื่อนะว่า ความรักที่เรามีให้กัน จะทำให้เรารักกัน และทำให้ลูกๆรักกันด้วย

บ้านไหนมีประสบการณ์ยังไง แชร์เล่าสู่กันฟังได้นะคะ 🙂
xx

Nina

11 ความคิดเห็น

  1. แล้วสำหรับพี่น้องที่โตแล้วล่ะคะ
    ผู้ชายทั้งคู่คะ คนโตจะสามขวบ คนเล็กหนึ่งขวบคะ
    พี่ค่อนข้างแกล้งน้อง ไม่ค่อยแบ่งของให้น้อง
    น้องเองก็แย่งของพี่บ่อยมากคะ
    พี่นิน่ามีวิธีปรับความคิดไหมคะ
    ตอนนี้อุ้มได้แต่ค่อยๆบอกทั้งสองคน ว่าต้องแบ่งกันนะ, อันนี้ของพี่ อันนี้ของน้อง อย่าแย่งกัน, อย่าตีน้องนะลูก น้องตัวเล็ก ค่อยบอกน้อง พยายามประนีประนอมคะ บางทีได้ผล บางทีก็หนักเลย
    พี่นิน่าพอจะมีวิธีไหมคะ
    ขอบคุณมากนะคะ^^

    • นิหน่าแนะนำ ลองเข้า youtube หารายการ พ่อแม่สู้สู้ ตอนพี่น้องรักกัน มาดูนะคะ นิหน่าเคยเป็นพิธีกร รายการดีมากๆค่ะ

  2. ที่บ้านพี่สาวคนโต 8 ขวบค่ะ คนเล็กผู้ชาย 4ขวบ
    แย่งของเล่นกันทุกวันค่ะ ทะเลาะกันบ่อยมาก แต่เพียงแค่พักเดียว เพราะคนเป็นพี่ต้องเสียสละและยอมน้องทุกอย่าง มาอ่านที่คุณนิหน่าเขียนแล้วเข้าใจเลย เราคิดว่าพี่เค้ายอม แต่ลึกๆๆคือความน้อยใจมาตลอดค่ะ เฮ้อออ
    ต้องปรับและเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงลูกใหม่เลยจริงๆ
    ขอบคุณนะค่ะ ที่แชร์ประสบการณ์ดีๆให้❤️❤️✌?✌???

    • ลองปรับดูนะคะ หรือลองหารายการพ่อแม่สู้สู้ มาดู รายการดีมากๆค่ะ หาใน youtube นะคะ

  3. อ่านของคุณนิหน่าแล้วทำให้เข้าใจลูกมากขึ้นเยอะเลยค่ะขอบคุณมากๆนะคะ

  4. บอกตลอดว่า “น้องรักพี่ตั้งแต่น้องเกิด และไม่เคยบอกว่าพี่ต้องรักน้อง “

  5. สวัสดีค่ะ นนมีลูกสาวเป็นคนโต อายุประมาณ 2 ขวบครึ่งค่ะ กำลังท้องลูกชาย อยากถามว่า ช่วงที่เราอยู่โรงพยาบาลตอนวันคลอด ลูกคนโตจะอยู่กับใครคะ ทำอย่างไรให้เค้าไม่รู้สึกว่าถูกแย่งความรักไป กำลังคิดว่า จะให้พ่ออยู่กับลูกและหาคนอื่นมาเฝ้าเราแทน หรือจะให้ลูกมาอยู่ด้วยช่วงกลางวัน และกลับไปนอนกับอาม่าช่วงกลางคืนดี (ปกตินอนกันพ่อแม่ลูกค่ะ)

    รบกวนขอความเห็นนิดนึงค่ะ ขอบคุณนะคะ

    • ตอนริต้าเกิด นิหน่าขนมานอนกันหมดเลยค่ะ แต่ถ้าไม่สะดวก อาจจะให้คุณพ่ออยู่กับลูกคนโต และพาเค้ามาเยี่ยมตอนกลางวันนะคะ

  6. ขอบคุณสำหรับบทความดีๆครับ
    ผมเพิ่งเป็นคุณพ่อลูกสอง
    คนโต 2 ขวบ คนเล็กเพิ่งอยู่ในท้องได้ 6 สัปดาห์เอง
    ตอนแรกคิดว่าจะรออีกสักปี เค้ามาเร็วมากๆ
    ตอนนี้กังวลทุกๆอย่างเลยครับ พอได้อ่านแล้วก็เบาใจขึ้นบ้าง ผมจะลองทำตามดูนะครับ

  7. เพิ่งอ่านครั้งแรกก็รู้สึกประทับใจมาก
    พี่ไม่มีได้มีครอบครัวค่ะ ติดตามทาง IG มาระยะนึงแล้วล่ะค่ะ
    เห็นเด็กๆ น่ารักและพี่แพทรักน้องริต้า พอมาอ่านบทความนี้
    รู้เลยทำไมพี่น้องรักกันขนาดนี้ นิหน่าเก่งมากๆ เลยค่ะ ^^

ส่งความเห็นที่ pj ยกเลิกการตอบ

Please enter your comment!
Please enter your name here